การเลือกถังเก็บน้ำให้เหมาะสมกับการใช้งาน

นับตั้งแต่ลืมตาตื่นนอนตอนเช้าจนถึงเข้านอนในเวลากลางคืน เราใช้น้ำเฉลี่ยคนละ 200 ลิตรต่อวัน ไล่เรียงตั้งแต่การดื่มน้ำแก้กระหาย การนำมาประกอบอาหาร การใช้น้ำระล้างร่างกายหรือทำความสะอาดสิ่งต่างๆ

ดังนั้น ถังเก็บน้ำจึงกลายเป็นของสำคัญประจำบ้าน โดยเฉพาะในช่วงเวลาระบบจ่ายน้ำหรือประปาขัดข้อง เราจำเป็นต้องมีถังเก็บน้ำเพื่อสำรองน้ำให้เพียงพอในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งวันนี้จะมีหลักในการเลือกถังเก็บน้ำให้เหมาะกับบ้าน มานำเสนอ ดังนี้

• ใต้ดิน VS. บนดิน
ทางเลือกในการติดตั้งถังเก็บน้ำเริ่มจากการตัดสินใจระหว่างถังเก็บน้ำใต้ดิน และถังเก็บน้ำบนดิน ซึ่งบ้านที่มีพื้นที่จำกัดหรือต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อยมักเลือกถังเก็บน้ำใต้ดินที่สามารถประหยัดพื้นที่ และทำให้บ้านดูสวยงามกว่า อย่างไรก็ตาม ถังเก็บน้ำใต้ดินมีขั้นตอนการติดตั้งยุ่งยาก เนื่องจากต้องฝังฐานรากเพื่อลงเข็มให้แข็งแรง เช่นเดียวกับการบำรุงรักษาและค่าซ่อมแซมที่เสียค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงสังเกตความผิดปกติได้ยาก

ขณะที่ถังเก็บน้ำบนดินที่สามารถดูแลรักษาง่าย เพราะมองเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน โดยสามารถซ่อมแซมและทำความสะอาดได้ง่าย หากแต่ต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้งแต่การจัดวางไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามเหมือนถังเก็บน้ำใต้ดิน

• ปริมาณความจุที่เหมาะสม
การเลือกซื้อถังเก็บน้ำควรเลือกขนาดที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยอิงจากปริมาณการใช้น้ำของสมาชิกในบ้าน ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 200ลิตร/วัน/คน คูณจำนวนสมาชิกในครอบครัวและจำนวนวันที่ต้องการสำรองน้ำให้เพียงพอ เช่น ครอบครัวของเรามีจำนวนสมาชิก 4 คน เราต้องซื้อถังเก็บน้ำที่มีปริมาณความจุคิดเป็น 200 x 4 = 800 ลิตร ซึ่งหากต้องการสำรองน้ำประมาณ 2 วัน เราควรซื้อถังเก็บน้ำ 800 x 2 = 1,600 ลิตร

อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำของแต่ละคนไม่เท่ากันตามกิจกรรมที่แตกต่างกัน โดยอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 200 ลิตรต่อวันได้ และการเลือกขนาดความจุของถังเก็บน้ำตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว เราสามารถเริ่มต้นสำรองให้เพียงพอใช้ได้ใน 1 วัน ดังนี้

จำนวนผู้ใช้น้ำ 4 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 800 ลิตร
จำนวนผู้ใช้น้ำ 5 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 1,000 ลิตร
จำนวนผู้ใช้น้ำ 6 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 1,200 ลิตร
จำนวนผู้ใช้น้ำ 7-8 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 1,600 ลิตร
จำนวนผู้ใช้น้ำ 9-10 คน เลือกถังเก็บน้ำความจุ 2,000 ลิตร

• ความคงทนแข็งแรง
คุณสมบัติที่สำคัญของถังเก็บน้ำที่เราจำเป็นต้องพิจารณาอันดับต้นๆ คือ ความแข็งแรงของตัวถัง เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน โดยควรตรวจสอบน้ำหนักถังเปล่าให้ได้ตามมาตรฐาน เช่น ถังเก็บน้ำขนาด 1,000 ลิตร ควรมีน้ำหนักถังก่อนใส่น้ำประมาณ 30 กิโลกรัม รวมถึงตรวจสอบความคงทนหลังจากบรรจุน้ำในถังต้องไม่เสียรูปทรง

นอกจากนั้น ในปัจจุบันถังเก็บน้ำมักมีการรับประกันอายุการใช้งานของสินค้าทั้งตัวถังและฝาถัง ซึ่งเราควรให้ความสำคัญกับระยะเวลาการรับประกันและสิ่งที่รับประกัน เช่น การแตกกรอบ บวม และการซีดของถังเก็บน้ำ โดยเราสามารถเรียกร้องขอเปลี่ยนถังเก็บน้ำใหม่หรือซ่อมแซมภายในระยะเวลาประกันได้

• คุณภาพของน้ำ
นอกเหนือจากความคงทนแข็งแรง เรายังต้องพิจารณาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อคุณภาพของน้ำที่เรานำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในปัจจุบันถังเก็บน้ำได้พัฒนาคุณสมบัติที่แตกต่างหลากหลาย เช่น การผสมสาร Nano Silver ในถังเพื่อป้องกัน ยับยั้งและทำลายจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนกับน้ำ หรือการใช้ส่วนผสม UV Protection ป้องกันการเสื่อมสภาพจากการโดนแสงแดดช่วยยืดอายุถังเก็บน้ำที่อยู่กลางแจ้งได้